กรมทางหลวง

พื้นที่ศึกษาของโครงการ

พื้นที่โครงการประกอบด้วยพื้นที่ส่วนด้านทิศตะวันตกและทิศเหนือของเมืองหาดใหญ่ โดยที่บางส่วนครอบคลุมนิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ (ฉลุง) และแนวเส้นทางมอเตอร์เวย์หาดใหญ่-ชายแดนไทย-มาเลเซีย

โดยพื้นที่โครงการจะเริ่มจากทางหลวงหมายเลข 4135 ตัดผ่านทางหลวงหมายเลข 4287 และทางหลวงหมายเลข 4 ทางรถไฟสายใต้ และจุดสิ้นสุดต่อเนื่องกับโครงการทางเลี่ยงเมืองหาดใหญ่ (ด้านตะวันตก) และทางหลวงหมายเลข 414 คลอบคลุมพื้นที่ 8 ตำบล 3 อำเภอ ตำบลควนลัง ตำบลทุ่งตำเสา ตำบลฉลุง  ตำบลคูเต่า  อำเภอหาดใหญ่  ตำบลบางกล่ำ ตำบลท่าช้าง ตำบลแม่ทอม อำเภอบางกล่ำ และ ตำบลบางเหรียง อำเภอควนเนียง โดยมีแนวเส้นทางรวมระยะทางประมาณ 35 กิโลเมตร

การศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม

การศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม เป็นการทบทวนรายงานการประมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เดิม ที่จัดทำในขั้นตอนการศึกษาความเหมาะสมฯ โครงการก่อสร้างทางเลี่ยงเมืองหาดใหญ่ เมื่อปี 2558 และดำเนินการปรับปรุงหรือการประเมินผลกระทบเพิ่มเติมให้สอดคล้องกับรูปแบบและลักษณะของโครงการที่อาจเปลี่ยนแปลงไปเนื่องจากการออกแบบรายละเอียด โดยมีขั้นตอนการดำเนินการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม มีรายละเอียด ดังนี้   

1) การรวบรวม ศึกษา และวิเคราะห์ข้อมูล: การศึกษาในขั้นตอนนี้เป็น
การรวบรวมตรวจสอบ มติคณะรัฐมนตรี ระเบียบ ข้อบังคับ ข้อกฎหมาย และแผนงานต่างๆ รวมทั้งนโยบายแผนยุทธศาสตร์ต่างๆ ทางด้านสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับโครงการ โดยสรุปผลการศึกษาในประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และทบทวนรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เดิม ของการศึกษาความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการฯ

2) พิจารณาสภาพพื้นที่โครงการ: การศึกษาสภาพพื้นที่โครงการโดยพิจารณาจากข้อจำกัดทางด้านสิ่งแวดล้อมให้ครอบคลุมตลอดพื้นที่โครงการ เพื่อศึกษาสภาพพื้นที่ของโครงการตามสภาพความแตกต่างของภูมิประเทศ อุปสรรคในแนวเส้นทาง และลักษณะทางกายภาพ ตามแนวเส้นทางในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เดิม และแนวเส้นทางที่เปลี่ยนแปลงจากรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เดิม

3) ศึกษาสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ: ทบทวนรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เดิม และศึกษาสภาพสิ่งแวดล้อม กรณี (ถ้ามี) รายละเอียดโครงการเปลี่ยนแปลงจากรายงาน
การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เดิม จะดำเนินการศึกษารวบรวมข้อมูลครอบคลุม 37 ปัจจัยสิ่งแวดล้อมภายใต้องค์ประกอบสิ่งแวดล้อม 4 ประเภท ได้แก่ ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมทางด้านกายภาพ ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมทางด้านชีวภาพ คุณค่าการใช้ประโยชน์ของมนุษย์ และคุณค่าต่อคุณภาพชีวิต และจะศึกษาครอบคลุมพื้นที่ในระยะ 500 เมตร หรือมากกว่าจากกึ่งกลางแนวเส้นทางโครงการ

4) การศึกษาสภาพแวดล้อมปัจจุบัน: จากการคัดกรองปัจจัยสิ่งแวดล้อมที่มีนัยสำคัญ จะดำเนินรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติม สำรวจสภาพพื้นที่และดำเนินการตรวจวัดคุณภาพสิ่งแวดล้อม โดยแสดงหลักเกณฑ์ และตำแหน่งให้ครอบคลุมพื้นที่ศึกษา

 5) การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม: ในกรณีที่มีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพิ่มเติมจากที่เสนอไว้ในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเดิม จะนำประเด็นปัจจัยสิ่งแวดล้อมที่ดำเนินการศึกษาเพิ่มเติมทำการศึกษา วิเคราะห์ และประเมินผลกระทบเพิ่มเติมอย่างละเอียด
ทั้งด้านบวกและด้านลบรวมถึงระดับผลความรุนแรงของผลกระทบครอบคลุมกิจกรรมการดำเนินโครงการในระยะต่างๆ ได้แก่ ระยะเตรียมการก่อสร้าง ระยะก่อสร้าง และระยะดำเนินการ

6) การกำหนดมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม: การสรุปผลการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยนำประเด็นสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ ซึ่งคาดว่าจะได้รับผลกระทบจากโครงการมาเป็นแนวทางในการกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่มีความเหมาะสมที่สุดโดยมีความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติมาตรการส่งเสริมและปรับปรุงคุณภาพสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อม (ในกรณีที่ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมแล้วพบว่ามีประเด็นสิ่งแวดล้อมที่สำคัญที่จะต้องดำเนินการ ติดตามตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงคุณภาพสิ่งแวดล้อม)     

 

แนวคิดในการพัฒนาโครงการ

โครงการสำรวจและออกแบบทางหลวง 4 ช่องจราจร ทางเลี่ยงเมืองหาดใหญ่ (ด้านตะวันตก) เป็นทางเลี่ยงเมืองที่เป็นโครงข่ายต่อเนื่องกับทางเลี่ยงเมืองหาดใหญ่ด้านตะวันออก ที่ได้ออกแบบไว้เป็นทางหลวงที่มีเขตทาง 60.00 เมตร ขนาด 4 ช่องจราจร เพื่อรองรับปริมาณจราจรในอีก 20 ปีอนาคต พร้อมจุดตัดทางแยกต่างระดับ บริเวณจุดต้นทาง-ปลายทางของโครงการ